หน้าหลัก > ข่าว > ศูนย์เรียนรู้ และอนุรักษ์พันธุ์พืชสมุนไพรไทย > ผักชี
ผักชี

ผู้ดูแลเว็บ วิทยาเขตสมุทรสงคราม
2024-03-03 10:42:51

ผักชี

ชื่อวิทยาศาสตร์         Coriandrum sativum  L.

ชื่อสามัญ                   Coriander

วงศ์                            Umbelliferae

ชื่ออื่นๆ                       ผักหอม (นครพนม) ผักหอมน้อย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ผักหอมป้อม ผักหอมผอม (ภาคเหนือ) ยำแย้ (กระบี่)

ลักษณะ :

ไม้ล้มลุก ที่มีลำต้นตั้งตรง ภายในจะกลวง และมีกิ่งก้านที่เล็ก ไม่มีขน มีรากแก้วสั้น แต่รากฝอยจะมีมาก ซึ่งลำต้นนี้จะสูงประมาณ 8-15 นิ้ว ลำต้นสีเขียวแต่ถ้าแก่จัดจะออกเสียเขียวอมน้ำตาล ใบ ลักษณะการออกของใบจะเรียงคล้ายขนนก แต่อยู่ในรูปทรงพัด ซึ่งใบที่โคนต้นนั้นจะมีขนาดใหญ่กว่าที่ปลายต้น เพราะส่วนมากที่ปลายต้นใบจะเป็นเส้นฝอย มีสีเขียวสด ดอก ออกเป็นช่อ ตรงส่วนยอดของต้น ดอกนั้นมีขนาดเล็ก มีอยู่ 5 กลีบสีขาวหรือชมพูอ่อนๆ ผล จะติดผลในฤดูหนาว ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมโตประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ตรงปลายผลจะแยกออกเป็น 2 แฉก ตาวผิวจะมีเส้นคลื่นอยู่ 10 เส้น

ผักชีที่ปลูกกันแพร่หลายในประเทศไทยมี 2 ชนิดคือ

1.พันธุ์พื้นเมือง มีลักษณะใบบาง ต้นเล็ก เมล็ดเล็ก ออกดอกเร็ว อายุสั้น มีกลิ่นหอมมากจนฉุน

2.พันธุ์อาฟริกา มีลักษณะใบใหญ่หนา ต้นใหญ่ กลิ่นหอมเล็กน้อย อายุยาวนานกว่าพันธุ์พื้นเมือง

คุณค่าทางอาหาร

ใบสด ประกอบด้วย โปรตีน เส้นใย ฟอสฟอรัส เบต้าเคโรทีน

ผล หรือลูกผักชี มีน้ำมันหอมระเหย(1.8%)ประกอบด้วยสารไลนาโลออล (Linalool) เป็นส่วนใหญ่ มีน้ำมันไม่ระเหย 13% มีสารสำคัญชื่อโคริแอนดรอล (coriandrol) มีเทนนิน และแคลเซียมออกซาเลต และมีสารเอสโตรเจน (plant estrogen)

ประโยชน์

ผักชีที่เรานำมาใช้ประโยชน์ก็คือ เมล็ดและต้น ซึ่งทั้งสองส่วยนี้จะมีกลิ่นเฉพาะตัว เมล็ดผักชีใช้รักษาอาการปวดท้องและช่วยย่อยอาหาร ส่วนใบที่เรานำมาทำเป็นผักแนมรับประทานกับอาหารอื่น หรือแต่งหน้าอาหารนั้นก็มีสรรพคุณช่วยย่อยเช่นกัน และยังมีเบต้าแคโรทีนอีกด้วย แม้จะไม่มากเท่าผักอื่นก็ตาม นอกจากนี้ผักชียังมีฤทธิ์เผ็ดร้อนช่วยขับลม บำรุงธาตุ แก้คลื่นไส้ได้

ใชัในการช่วยย่อย บำรุงกระเพาะ เจริญอาหาร ขับลมขับพิษ แก้หวัด ขับเหงื่อ ช่วยย่อยอาหาร ลดน้ำตาลในเลือด แก้โรคหัด พอกทาแก้ผื่นคัน แก้ไฟลามทุ่ง แก้ตับอักเสบ ลดการปวดบวมข้อ ต้มดื่มแก้ไอ แก้หวัด อาหารเป็นพิษ แก้สะอึก กระตุ้นการทำงานของเลือดพลาสมา และกล้ามเนื้อ มีสารต้านมะเร็ง ต้านแบคทีเรีย เชื้อรา และไข่ของแมลง จึงใช้ถนอมอาหาร

ลูกผักชี แก้พิษตานซาง แก้กระหายน้ำ แก้ลมวิงเวียน แก้บิด ถ่ายเป็นเลือด แก้ริดสีดวงทวาร แก้ปวดฟัน ช่วยย่อยอาหาร ขับลม บำรุงธาตุ ต้มน้ำอาบเมื่อเป็นหัด แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน ใช้ผลเตรียมน้ำมันผักชีซึ่งเป็นน้ำมันหอมระเหย หากถูกผิวนานๆอาจระคายเคืองได้

ราก เป็นกระสายยา กระทุ้งพิษไข้หัว เหือดหัด อีสุกอีใส อีดำอีแดง

กากลูกผักชี (หมายถึงลูกผักชีที่สกัดเอาน้ำมันออกแล้ว) มีโปรตีน 11-17 % ไขมัน 11-20% จึงเหมาะที่จะใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ดี ผงลูกผักชีบดใช้โรยแผลกันเชื้อฝีหนองได้ นอกจากนี้แล้ว ลูกผักชียังใช้เป็นเครื่องเทศผสมเครื่องแกง ผักดอง ไส้กรอก แต่งกลิ่นอาหารต่างๆโดยเฉพาะเหล้ายิน แต่งกลิ่นช็อกโกแลต โกโก้ ได้

สรรพคุณทางยา

ผล - แก้บิด ถ่ายเป็นเลือด ถ่ายเป็นมูก แก้ริดสีดวงทวาร มีเลือดออก แก้ท้องอืดเฟ้อ

เมล็ด - แก้ปวดฟัน ปากเจ็บ

ต้นสด - ช่วยให้ผื่นหัดออกเร็วขึ้น แก้เด็กเป็นผื่นแดงไฟลามทุ่ง

วิธีใช้

แก้บิดถ่ายเป็นเลือด  ใช้ผล 1 ถ้วยชา ตำผสมน้ำตาลทราย ผสมน้ำดื่ม

แก้บิด ถ่ายเป็นมูก  ใช้น้ำจากผลสดอุ่น ผสมเหล้าดื่ม

แก้ริดสีดวงทวาร มีเลือดออก

- ใช้ผลสดบดให้แตก ผสมเหล้าดื่มวันละ 5 ครั้ง

- ใช้ต้นสด 120 กรัม ใส่นม 2 แก้ว ผสมน้ำตาล ดื่ม

แก้ท้องอืดเฟ้อ  ใช้ผล 2 ช้อนชา ต้มน้ำดื่ม

แก้เด็กเป็นผื่นแดงไฟลามทุ่ง ช่วยให้ผื่นหัดออกเร็วขึ้น  ใช้ต้นสด หั่นเป็นฝอย ใส่เหล้าต้มให้เดือด ใช้ทา

แก้ปวดฟัน ปากเจ็บ  ใช้เมล็ดต้มน้ำ ใช้อมบ้วนปากบ่อยๆ


ที่มา : http://www.the-than.com/samonpai/P/44.html