หน้าหลัก > ข่าว > ศูนย์เรียนรู้ และอนุรักษ์พันธุ์พืชสมุนไพรไทย > พริกบางช้าง
พริกบางช้าง

ผู้ดูแลเว็บ วิทยาเขตสมุทรสงคราม
2024-03-04 09:59:12

พริกบางช้าง

ชื่อสามัญ : Chili spur pepper, Capsiums, Chillics, Green pepper, Paprika Tabasco pepper, Cayenne pepper, Chili, Thai dragon Chile, Spur pepper, Long cayenne pepper

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Capsicum annuum L. (Capsicum annuum var. acuminatum Fingerh.)  จัดอยู่ในวงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)

สมุนไพรพริกชี้ฟ้า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พริกเดือยไก่ พริกหนุ่ม พริกหลวง (ภาคเหนือ), พริกแล้ง (เชียงใหม่), พริกมัน พริกเหลือง (กรุงเทพฯ) เป็นต้นลักษณะของพริกชี้ฟ้าต้นพริกชี้ฟ้า มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์เพื่อเก็บผลขายในประเทศไทยแต่โบราณแล้ว โดยจัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีอายุประมาณ 1-3 ปี มีความสูงได้ประมาณ 0.3-1.2 เมตร ลำต้นเปราะหักง่าย แตกกิ่งก้านหนาแน่นเป็นพุ่ม เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ปลูกกลางแจ้งจะดีเพราะน้ำไม่ท่วม เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ระบายน้ำดี หรือปลูกบนดินรังปลวกก็จะมีอายุอยู่ได้นาน พบได้ทุกภาคในประเทศไทย แต่พบได้มากทางภาคเหนือและกรุงเทพฯ

ใบพริกชี้ฟ้า ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับหรือออกตรงข้ามกัน บางพันธุ์ก็ออกเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจเรียว รูปวงรี รูปใบหอก หรือเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบแหลมหรือเว้าเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-10 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม เนื้อใบนิ่ม หลังใบและท้องใบเรียบ

ดอกพริกชี้ฟ้า ออกดอกเป็นช่อหรือออกดอกเดี่ยวชี้ขึ้น โดยจะออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ดอกเป็นสีขาวหรือสีขาวอมเขียว มีกลีบดอก 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ส่วนกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันปลายตัดหรือเป็นหยัก 5 หยัก ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี

ผลพริกชี้ฟ้า ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมยาว ปลายผลแหลม ผลอ่อนเป็นสีเขียวแก่ เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มและสีแดง ผิวผลเป็นมัน ปลายผลชี้ตั้งขึ้น ผลมีรสเผ็ดร้อนพอประมาณ ส่วนเมล็ดมีลักษณะแบนเรียบ สีเหลืองหรือสีขาวนวล และมีจำนวนมาก สามารถติดผลได้ตลอดปี




แหล่งข้อมูล :

1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “พริกชี้ฟ้า (Prik Chi Fa)”. หน้า 191.

2. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “พริกชี้ฟ้า”. หน้า 112-113.

3. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “พริกชี้ฟ้า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [29 ส.ค. 2014].

4. รายการสาระความรู้ทางการเกษตร ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “พริกชี้ฟ้า”. บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร ประจำวันจันทร์ที่ 26 เมษายน 2547. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : natres.psu.ac.th. [29 ส.ค. 2014].

5. ภาพประกอบ : www.flickr.com (by RoOoNa, Achim, Gerda Bats), www.eco-agrotech.com, www.matichon.co.th (by พงษ์สันต์ เตชะเสน)

6. Medthai.co “พริกชี้ฟ้า สรรพคุณและประโยชน์ของพริกชี้ฟ้า 22 ข้อ !” [ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก https://medthai.com/พริกชี้ฟ้า/ [15/04/2019]