ความเชื่อ รูปเคารพ และบทบาทศาลเจ้าพ่อพระปรง ชุมชนบ้านหนองผูกเต่า อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว
การวิจัยนี้ศึกษาการก่อตั้งและพัฒนาการของศาลเจ้าพ่อพระปรง ความเชื่อต่อรูปเคารพ และบทบาทของเจ้าพ่อพระปรงต่อชุมชน โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพเก็บข้อมูลโดยการสังเกต การบันทึกภาพ การสัมภาษณ์เชิงลึก และคำบอกเล่าจากผู้ให้ข้อมูลหลัก จำนวน 9 คน ประกอบด้วย ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อตั้งและพัฒนาการ ประชาชนที่มาสักการะบูชา และชาวบ้านที่มีส่วนเกี่ยวข้อง วิเคราะห์และสังเคราะห์ด้วยวิธีการพรรณนา
ผลการศึกษา พบว่า ศาลเจ้าพ่อพระปรงเดิมไม่ปรากฏว่าผู้ใดก่อตั้ง พบครั้งแรกเป็นเพียงเศษไม้เล็ก ๆ ลักษณะคล้ายศาลตั้งอยู่บนพื้นดินใต้ต้นไม้ใหญ่ริมแม่น้ำแควพระปรง หมู่ที่ 9 ตำบล บ้านแก้ง อำเภอสระแก้ว จังหวัดปราจีนบุรี ชาวบ้านที่ทำไร่ทำนาอยู่บริเวณนั้นได้กราบไหว้อธิษฐานขอพรเพื่อให้พืชผลของตนที่เพาะปลูกมีความอุดมสมบูรณ์ เมื่อสมความปรารถนาจึงนำหัวหมูและเหล้าขาว “สุราไทย” มาเป็นเครื่องเซ่นสังเวยสักการะบูชา ต่อมาในคราวสร้างศาลาการเปรียญวัดวิหารธรรม “บ้านหนองผูกเต่า” ขาดแคลนทุนทรัพย์ซื้อสังกะสีมุงหลังคา ชาวบ้านจึงมีความคิดร่วมกันในการจัดประเพณีและหาทุนทรัพย์มาพัฒนาวัด ดังนั้น นายสมัย จันทวงษ์ ผู้นำชุมชนจึงได้นำชาวบ้านตั้งปะรำพิธีขึ้นที่บริเวณหน้าบ้านของตน ณ สี่แยกถนนสุวรรณศรหมายเลข 33 “หลักกิโลเมตรที่ 227 สายเก่า” และในบ่ายวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2507 ได้เชิญองค์รูปเจ้าพ่อพระปรงมาทำพิธีสักการะบูชาและเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อให้ชาวบ้านและผู้สัญจรผ่านไปมาได้สักการะบูชาขอพรและสรงน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์เพื่อเป็นสิริมงคลชีวิตและครอบครัว ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน พ.ศ. 2507 เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน จนเป็นประเพณีสืบมา และในปี พ.ศ. 2517 มีการเปิดใช้เส้นทางถนนสุวรรณศรสายใหม่ ได้มีการตั้งศาลเจ้าพ่อพระปรงขึ้นอีกแห่งที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำแควพระปรง ณ ถนนสุวรรณศร หลักกิโลเมตรที่ 226 เขตรอยต่อระหว่างจังหวัดปราจีนบุรี-สระแก้ว และพัฒนาเป็นประเพณีวันไหลจังหวัดสระแก้วในเทศกาลสงกรานต์จนถึงปัจจุบัน โดยมีความเชื่อต่อรูปเคารพเจ้าพ่อพระปรง 3 ประการ ได้แก่ ปกป้องคุ้มภัยภยันตรายในชีวิตและครอบครัว เดินทางแคล้วคลาดปลอดภัยไม่ให้ประสบอุบัติเหตุ และประกอบอาชีพการงานประสบความสำเร็จสมปรารถนา ขณะเดียวกันมีบทบาทต่อชุมชน 4 ประการ ได้แก่ ศูนย์รวมและที่พึ่งทางจิตใจของชาวบ้านและผู้ศรัทธา แหล่งการเรียนรู้สืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมนำคำว่า “ด่าน...” มาเป็นคำนำหน้านามสกุลครอบครัว คุณค่าของภูมิปัญญามรดกทางวัฒนธรรม และเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจครัวเรือนส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสระแก้ว
Credit : โกมล จันทรวงษ์
https://so05.tci-thaijo.org/index.php/ssajournal/article/view/251645